กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนพฤษภาคม2563 : Hope or Dream
Key Takeaways :
ตลาดหุ้นปรับตัวเพื่มขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนเมษายน จากสภาพคล่องที่ภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าระบบ เพื่อสู้วิกฤติCOVID-19SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6% ในเดือนเมษายน
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายน 2563 ดัชนี SET Indexปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,125.86 จุด มาปิดที่ระดับ1,301.66 จุด คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6% โดยSET Indexได้รับปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19ที่เริ่มควบคุมได้มากขึ้น , การผ่อนคลายมาตรการLockdownของประเทศต่างๆทั่วโลก และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +35.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +26.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +26.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +2.5% กลุ่ม ICT +2.6% และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ +7.6% โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นขายหุ้นไทยสุทธิ 46,976 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,675 ล้านบาท
ตัวเลขผู้ติดเชื้อCOVID-19 ดีขึ้นต่อเนื่อง
จำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19มีแนวโน้มเติบโตลดลงต่อเนื่อง
ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสCOVID-19มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง หากเทียบระหว่างช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนเมษายน พบว่า
- "สหรัฐฯ" มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจาก 13% เหลือเพียง 4%
- "อิตาลี" มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจาก 5% เหลือเพียง 1%
- "สเปน"และ"เยอรมนี" มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจาก 8% เหลือเพียง 1%
- "ไทย" มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน
สะท้อนให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ เริ่มเรียนรู้วิธีการรับมือกับโรคระบาด และควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
การผ่อนคลายมาตรการLockdown
หลายประเทศเตรียมผ่อนคลายมาตรการLockdown
จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงต่อเนื่อง ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพื่อให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มกลับมาเปิดดำเนินงานได้อีกครั้ง เช่น
- "สหรัฐฯ" ได้ให้อำนาจผู้ว่าการรัฐกำหนดช่วงระยะเวลาในการผ่อนคลายมาตรการLockdownด้วยตนเอง โดยหลายรัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตราการLockdownแล้ว เช่น รัฐTexas ขณะที่บางรัฐมีแผนผ่อนคลายมาตรการในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เช่น รัฐ New York
- "สเปน" เริ่มเปิดให้ประชาชนออกกำลังกายกลางแจ้งได้นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม
- "อิตาลี "มีแผนการเปิดภาคอุตสาหกรรมอีกครั้งในวันที่ 4 พฤษภาคม
- "เยอรมนี" ได้ผ่อนคลายมาตรการฯเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการLockdown จะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
ภาครัฐอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าระบบ
เงินอัดฉีดก้อนใหญ่เพื่อสู้วิกฤติCOVID-19
ในแง่การอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ หลายประเทศได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น
- "สหรัฐฯ" ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นการให้เงินประชาชนโดยตรง เช่น คนโสดที่มีรายได้น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี(ประมาณ 2.4 ล้านบาท) จะได้รับเงินจากรัฐบาล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 38,400 บาท) นอกจากนั้น FEDยังได้มีการประกาศอัดฉีดเงิน QE เพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง
- "สิงคโปร์" อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของ GDP
- "ญี่ปุ่น" วางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP
สำหรับประเทศไทยได้มีการอัดฉีดเม็ดเงิน ดังนี้
- นโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท
- นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท และประกาศเข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน(ระดับInvestment Grade)ที่ไม่สามารถRefinanceได้ ภายใต้วงเงินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท
โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนี้ จึงส่งผลดีต่อบรรยากาศในการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในช่วง1เดือนที่ผ่านมา
ความเห็น
ความหวัง และ สภาพคล่องมหาศาล
ผลักดันหุ้นทั่วโลก
การทะยานขึ้นของSet Indexจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08จุด พุ่งทะยานกลับมาสู่ระดับ1,300จุด เกิดขึ้นภายใต้สาเหตุสองประการสำคัญ คือ
- ปริมาณเม็ดเงินมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ทั้งจากนโยบายการคลังแบบHelicopter Money(การแจกจ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรง) และนโยบายการเงินทั้งในรูปแบบQE และ การลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ ของธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลก
- ความคาดหวังว่า หลังจากการผ่อนคลายมาตรการLockdown จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ผลักดันตลาดหุ้นทั่วโลก ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาสองประการสำคัญ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติได้จริงหรือไม่ และ อัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรที่เกิดจากใช้นโยบายการคลังแบบเข้มข้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินของบริษัทเอกชนสูงขึ้นมาเพียงใด
เมื่อความเชื่อมั่นหดหาย
"เปิดเมือง"แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้แค่ไหน?
ความเสี่ยงประการแรก คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับได้มากแค่ไหน หลังจากการคลายLockdown การจะวิเคราะห์ประเด็น ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน มองว่าจำเป็นต้องวิเคราะห์ในสองประเด็นคือ
- "ความเชื่อมั่น" ประชาชนจะกล้าจับจ่ายใช้สอยต่อเมื่อมีความมั่นใจว่า รายได้ของตนเองในอนาคตจะยังคงได้รับเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม หากติดตัวตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบว่า
- ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอีก6เดือนข้างหน้า ประชาชนกว่าร้อยละ50.6 มองว่าเศรษฐกิจจะ"แย่" (เทียบกับตัวเลขความเชื่อมั่นในเดือน มกราคม2563 ประชาชนเพียง ร้อยละ38.7 มองว่าเศรษฐกิจจะ"แย่"
- ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 39.2 (ลดจาก 54.9ในเดือนมกราคม2563)
- "New Normal" ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการLockdown จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เช่น
- การเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง21.56% ของGDP(ข้อมูล ณ.ปี2018)
- ภาคธุรกิจบริการ ที่สามารถกลับมาดำเนินการได้ ก็จะมีต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าจะต้องมีการจำกัดจำนวนลูกค้าต่อพื้นที่ , สายการบินจะต้องขายตั๋วที่นั่งแบบ"ที่เว้นที่" รวมไปถึงต้นทุนในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคต่างๆ
เมื่อความเชื่อมั่นภาคประชาชนลดลงย่อมส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย แต่ต้นทุนการให้บริการของผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อภาครัฐ แข่งกับภาคเอกชนในการออก Bond
ต้นทุนกู้ยืมภาคเอกชน จะสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ความเสี่ยงประการที่สอง เมื่อภาครัฐแข่งกับเอกชนในการออกBond จะทำให้ต้นทุนการเงินในการกู้ยืมของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยผลจากการอัดฉีดเงินเงินเยียวยา5,000บาท ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" วงเงินรวม50,000ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น2ช่วงอายุ คือ
- รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 2.40 ต่อปี
- รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับพันธบัตรออมทรัพย์อายุ5ปี รุ่นล่าสุดที่เปิดจำหน่ายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 วงเงิน5,000ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ ร้อยละ 2.00 ต่อปี
ดังนั้นต้นทุนการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 0.4%ต่อปี(ตามสูตร Risk Free+Risk Priium) จึงกลายเป็นต้นทุนการเงินของบริษัทเอกชนที่จะออกตราสารหนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อัตราการว่างงานสหรัฐ
สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 36.5ล้านคน !
นอกจากนี้เมื่อมองไปยังความเสี่ยงระดับโลก จะพบความเสี่ยงสำคัญอีกสองเรื่อง คือ อัตราการว่างงานสหรัฐ เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 14.7% หรือคิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกงานกว่า 36.5 ล้านคน (อัตราการว่างงานสูงสุดช่วงHamburger Crisis อยู่ที่ระดับ10%) ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าประเทศสหรัฐเป็นผู้บริโภคอันดับหนึ่งของโลก การที่มีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทรัมป์อ้าง "มีหลักฐาน" จีนปล่อยโคโรน่า
จับตาสงครามจีน-สหรัฐปะทุอีกรอบ
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่อาจจะปะทุขึ้นอีกรอบ ภายหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวว่า ตนมีหลักฐานว่าจีนเป็นผู้ปล่อยให้เชื้อไวรัสโคโรนาออกมา เพื่อทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ และความนิยมต่อตัวนายโดนัลด์ทรัมป์
นอกจากคู่ขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐแล้ว ยังมีคู่ขัดแย้งอื่นๆที่ต้องจับตามองอีก ไม่ว่าจะเป็น
- จีน-ออสเตรเลีย จากประเด็นเรื่อง ความไม่พอใจการที่ออสเตรเลียสนับสนุนการตรวจสอบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าว่า มีต้นตอมาจากจีนหรือไม่ ทำให้จีนเริ่มมีการขึ้นภาษี และลดการนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลีย เป็นการตอบโต้
- เยอรมัน-รัสเซีย จากประเด็นเรื่องการที่เยอรมันกล่าวอ้างว่า หน่วยข่าวกรองรัสเซียได้ทำการแฮคเข้าอีเมล์ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ซึ่งเพิ่มประเด็นความร้อนแรง หลังจากเมื่อปี2019 ทางเยอรมันได้ขับไล่ทูตรัสเซีย 2 รายออกจากเยอรมัน จากปมเหตุการณ์ลอบยิงอดีตผู้บัญชาการเชเชน
ซึ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สงครามการค้าของชาติมหาอำนาจ ย่อมเป็นสิ่งสุดท้ายที่ประชากรโลกต้องการที่จะเห็น
หุ้นไทยแพงกว่าเพื่อนบ้าน
หลักจากพิจารณาความเสี่ยงในแง่ต่างๆ เมื่อหันกลับมาถามว่าแล้ว ณ.ปัจจุบันหุ้นไทยถูกหรือแพงเพียงใด หากพิจารณาจากForward P/E จะพบว่าหุ้นไทยเทรดที่ระดับ17.65เท่า (ซึ่งหากเทียบกับประเทศอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 12.71 เท่า และฟิลิปปินส์จะอยู๋ที่13.12เท่า) ดังนั้นคำตอบสั้นๆคือ "แพงมาก"
แนะนำให้ขายลดพอร์ต ถือเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ดังนั้นในแง่กลยุทธ์การลงทุน ทางAllfinnจึงแนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะที่ดัชนียังอยูในระดับสูง(ช่วงใกล้ระดับ1,300จุด)ขายลดพอร์ตเพื่อถือเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเป็นกระสุนสำหรับใช้ในการ "ซื้อของถูก" ในรอบถัดไป