Blog
language
ไทย
Eng
Home
About
Blog
Contact

language Language:

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนมิถุนายน2563 : Expensive bull

10 มิถุนายน 2563, 16.28น   468 views

Key Takeaways :

สถานการณ์การแพร่ระบาดของCovid-19เริ่มดีขึ้น หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการLockdown อย่างไรก็ตามหากความเชื่อมั่นยังไม่กลับมาตลาดหุ้นก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวไปได้ไกลมากนัก นอกจากนี้หุ้นไทยยังแพงสุดในเอเชีย จึงแนะนำให้ขายลดพอร์ต ถือเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
SET Indexปรับตัวเพิ่มขึ้น3.2% ในเดือนพฤษภาคม

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 ดัชนี SET Indexปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ1,301.66 จุด มาปิดที่1,342.85 จุด คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% โดยตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการLockdown ขณะที่ได้รับปัจจัยลบหลักจากความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +46.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16.0% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +6.9% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -2.1% กลุ่ม ICT -0.3% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.2% โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นไทยสุทธิ 31,598 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,838 ล้านบาท

การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล จนท่วมตลาดหุ้น

จากผลกระทบของมาตรการLockdownเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCovid-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ภาครัฐบาลของแต่ละจำเป็นต้องออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยกตัวอย่าง เช่น

  • สหรัฐอเมริกา วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 2.4ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น12%ของGDP
  • เยอรมนี วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 156,000ล้านยูโร คิดเป็น4.8%ของGDP
  • ฝรั่งเศส วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 128,000ล้านยูโร คิดเป็น5.5%ของGDP
  • อังกฤษ วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 123,200ล้านยูโร คิดเป็น5.6%ของGDP
  • ญี่ปุ่น วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 95.7ล้านล้านเยน คิดเป็น17.7%ของGDP
  • ไทย วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐรวม มูลค่า 1ล้านล้านบาท คิดเป็น5.2%ของGDP

ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวข้างต้นยังไม่นับรวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านการให้เงินกู้ เช่นการให้Soft Loanแก่ผู้ประการต่างๆ ด้วยเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล ส่งผลให้นักลงทุนมีความคาดหวังเชิงบวก อีกทั้งปริมาณเงินที่อัดฉีดออกมาจากธนาคารกลางต่างๆ ก็ทำให้มีเม็ดเงินไหลท่วมเข้าสู่ตลาดทุน ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ผ่อนคลายLockdown

หลายประเทศเริ่มคลาย Lockdown

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสCovid-19เริ่มดีขึ้น หลายประเทศก็ได้เริ่มกลับมาผ่อนคลายมาตรการLockdown โดยที่ยังคงไว้ซึ่งนโยบายSocial Distancing และการจำกัดกิจกรรมที่ยังคงมีความเสี่ยง ที่จำเป็นต้องมีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก เช่น การแข่งขันกีฬา หรือ กิจกรรมในสถานบันเทิง

อย่างไรก็ตามเมื่อกิจกรรมส่วนใหญ่เริ่มได้รับอนุญาตให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น เช่น การดำเนินงานของห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงโรงหนังในหลายประเทศ จึงส่งให้นักลงทุนเพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น

ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ

ทรัมป์โยนความผิดให้จีน เป็นต้นตอการระบาดของCovid-19

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับเพิ่มขึ้น จากหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็น

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวโทษว่า "จีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19" จึงขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่
  • จีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และออกมาตรการตอบโต้
  • วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act"ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสถูกถอดออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ หากไม่สามารถทำตามมาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ

ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอน เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

ความเห็น

ความหวัง และ สภาพคล่องมหาศาล
ผลักดันหุ้นทั่วโลก

การทะยานขึ้นของSet Indexจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08จุด พุ่งทะยานกลับมาสู่ระดับ1,450จุด เกิดขึ้นภายใต้สาเหตุสองประการสำคัญ คือ

  • ปริมาณเม็ดเงินมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ทั้งจากนโยบายการคลังแบบHelicopter Money(การแจกจ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรง) และนโยบายการเงินทั้งในรูปแบบQE และ การลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ ของธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลก
  • ความคาดหวังว่า หลังจากการผ่อนคลายมาตรการLockdown จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ผลักดันตลาดหุ้นทั่วโลก ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาสองประการสำคัญ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติได้จริงหรือไม่ และ อัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรที่เกิดจากใช้นโยบายการคลังแบบเข้มข้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินของบริษัทเอกชนสูงขึ้นมาเพียงใด

ปิดห้างว่าหนักแล้ว
เปิดห้างสาหัสยิ่งกว่า

ขณะที่เมื่อพิจารณาในมุมของผู้ประกอบการขนาดเล็ก จะพบว่าการกลับมาคลายLockdownไม่ได้ทำให้เบาใจลงแม้แต่น้อย หากยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ

  • กรณีที่ผู้ประกอบการในห้างสรรพสินค้า ตอนที่รัฐบาลออกมาตรการLockdown สั่งปิดห้างสรรพสินค้า ทำให้ร้านค้าต้องปิดตามไปด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อห้างปิด-ร้านขายไม่ได้ เจ้าของพื้นที่(Landlord)ก็เลือกที่จะช่วยเหลือ ด้วยการลดค่าเช่าพื้นที่(บางที่ไม่เก็บค่าเช่า) แต่เมื่อห้างกลับมาเปิดขายตามปกติ ค่าใช้จ่ายต่างๆกลับมาเกือบเต็ม100% แต่รายได้กลับมาไม่ถึงครึ่ง เพราะประชาชนยังมาเดินห้างบางตา
  • ขณะที่เจ้าของธุรกิจทั่วไป เริ่มประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องชัดเจน เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มีเงินทุนหมุนเวียนแค่เพียง3-6เดือน เท่านั้น เมื่อธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหา ยอดขายลดลงเหลือเฉลี่ยเพียงแค่30% โดยที่ต้นทุนหลักคือค่าจ้างพนักงานยังคงอยู่ ณ.เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จะเริ่มเป็นจุดวัดใจ ว่าเจ้าของกิจการรายใด จะไปต่อ หรือม้วนเสื่อกลับบ้าน
  • เมื่อคนเริ่มตกงานมากขึ้น แม้แต่ในบางอาชีพที่มีความมั่นคงสูง อย่างนักบิน(ที่ถูกลดค่าจ้าง) หรือแพทย์ซึ่งเริ่มมีข่าวว่าในโรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีการปลดแพทย์นอกเวลาออก ลดเวลาการทำงาน หรือปิดคลีนิคพิเศษ ซึ่งจะย้อนกลับมาทำลายกำลังซื้อ เกิดเป็นวงจรอุบาศว์ให้เจ้าของธุรกิจขาดรายได้อีกครั้ง
ที่ใดก็ตามที่คนหมู่มากไปรวมตัวกัน
ที่นั่นมักเรียกว่า "ดอย"

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การที่ดัชนีSET Index ฟื้นตัวขึ้นมากว่า45% ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะได้กำไรในระดับดังกล่าว เพราะหากสังเกตมูลค่าการซื้อขายจะพบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่พึ่งจะเริ่มมีความ"กล้าซื้อ" ที่ระดับดัชนี 1,300+ เท่านั้น และความมั่นใจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อระดับดัชนีทะลุระดับ1,400จุด สะท้อนจากมูลค่าการซื้อขายที่สูงแตะระดับ1แสนล้านบาท

ซึ่งความ"กล้าซื้อ" ดังกล่าวไม่ใช่มาจากนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดี แต่เกิดจากความรู้สึกว่า "กลัวตกรถ" ซึ่งจากประวัติศาสตร์ในอดีต เมื่อใดก็ตามที่คนหมู่มากไปรวมตัวกัน ที่นั่นมักจะเกิดเป็นสถานที่ เรียกว่า "ดอย"

สิ่งสำคัญไม่ใช่หุ้นขึ้นมามากแค่ไหน
แต่อยู่ที่สุดท้ายแล้วเอากำไรออกไปจากตลาดได้หรือไม่

นอกจากนี้ การที่หุ้นขึ้นมากว่า40% ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้นักลงทุนดีใจได้ เนื่องจากในสภาวะที่ตลาดผันผวนขึ้นลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง การขายช้าเพียงไม่กี่นาที อาจจะหมายถึงส่วนต่างราคามากถึงระดับ10%ในหุ้นบางตัวได้ไม่ยาก

ดังนั้นแล้วจึงอยากฝากคำเตือนถึงนักลงทุนทุกท่านว่า "สิ่งสำคัญไม่ใช่หุ้นขึ้นมามากแค่ไหน แต่อยู่ที่สุดท้ายแล้วเอากำไรออกไปจากตลาดได้หรือไม่"

หุ้นไทยแพงสุดในเอเชีย

หลักจากพิจารณาทั้งในแง่ความเสี่ยงและพฤติกรรมของนักลงทุน เมื่อหันกลับมาถามว่าแล้ว ณ.ปัจจุบันหุ้นไทยถูกหรือแพงเพียงใด ล่าสุดสำนักข่าวBloombergได้รายงานว่า ตลาดหุ้นไทยถูกจัดอันดับให้ซื้อขายแพงที่สุดในเอเชีย หากพิจารณาจากForward P/E จะพบว่าหุ้นไทยเทรดที่ระดับ 21.8 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงระดับ 5 S.D. (ซึ่งหากเทียบกับประเทศอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 12.71 เท่า และฟิลิปปินส์จะอยู๋ที่13.12เท่า) ดังนั้นคำตอบสั้นๆคือ “แพงมาก

แนะนำให้ขายลดพอร์ต ถือเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ดังนั้นในแง่กลยุทธ์การลงทุน ทางAllfinnจึงแนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะที่ดัชนียังอยูในระดับสูง(ช่วงใกล้ระดับ1,400จุด)ขายลดพอร์ตเพื่อถือเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเป็นกระสุนสำหรับใช้ในการ “ซื้อของถูก” ในรอบถัดไป

หมวดหมู่ : Monthly Report

บทความแนะนำ

Feel free to chat with us!

 
Add us as a friend

Line : @allfinn