ไทย
Eng
หน้าแรก
รู้จักเรา
บทความ
ติดต่อเรา

language Language:

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนกรกฎาคม2563 : Dark Cloud Cover

05 กรกฎาคม 2563, 18.15น   494 views

Key Takeaways :

การคาดการณ์ผลกระทบจากCOVIDเริ่มมีทิศทางที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ติดลบ8.1% ซึ่งรุนแรงกว่ายุคต้มยำกุ้ง ถึงแม้ในช่วงสั้นตลาดหุ้นจะไม่ปรับฐานลงแรงมากนัก แต่แนะนำให้นักลงทุนขายSAPออกมาก่อน
"SET Indexปรับตัวลดลง-0.3% ในเดือนมิถุนายน"

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน2563 ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงจาก1,342.85จุด ลงมาปิดที่1,339.03จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลง -0.3% โดยปัจจัยลบที่กดดันตลาดหุ้น คือ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับลดคาดการณ์GDPของIMF

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง6.0% , กลุ่มวัสดุก่อสร้าง5.9% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต5.7% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์-8.9% , กลุ่มอสังหาริมทรัพย์-3.4% และกลุ่มICT-3.3% โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นไทยสุทธิ 22,717 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,576 ล้านบาท

Covid-19ยังลามไม่หยุด

จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งแตะ11ล้านราย
เสียชีวิตเกือบ530,000ราย

หลังจากที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการLockdownในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อCovid-19ก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยในประเทศสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งขึ้นแตะระดับ 3-4 หมื่นรายต่อวัน โดยรัฐที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ California, Texas, Florida และ Arizona ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรัฐใหญ่ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

สำหรับประเทศอื่นที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า1,000คนต่อวัน ได้แก่ แม๊กซิโก , รัสเซีย , ปากีสถาน , บังคลาเทศ , คาซัคสถาน , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย ,โบลิเวีย, โอมาน

สำหรับสถิติ ณ.วันที่4กรกฎาคม2563

  • จำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19ทั่วโลก มีจำนวนทั้งสิ้น11,219,696คน
  • ผู้เสียชีวิต529,601คน โดยแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนถึงมาตรการการปิดเมือง(Lockdown)ที่ภาครัฐอาจจะต้องนำกลับมาใช้อีกครั้ง

IMFปรับประมาณการณ์ GDPโลกลงต่อเนื่อง

กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ติดลบ8.1% แรงกว่ายุคต้มยำกุ้ง!

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง) งวดวันที่24มิถุนายน2563 โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือ

  • การปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลงสู่ -8.1% จากเดิม -5.3%(ช่วงต้มยำกุ้งปี2541 เศรษฐกิจไทยหดตัว-7.6%)
  • ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8%

นอกจากนั้นในช่วงเย็นของวันเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก(GDP)ในปี 2020

  • โดยปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020ลงสู่ระดับ-4.9% จากเดิมคาด-3%
  • ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก(GDP)ปี2021 ลงสู่+5.4% จาก+5.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลด GDPทางฝั่งยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา

จากผลของการปรับลดคาดการณ์GDP ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

ความเห็น

เมื่อPent Up Diandกำลังจะสิ้นสุดลง

เรื่องแรกที่จะขอพูดถึงคือ ในแง่ของการฟื้นตัวของDiand สำหรับประเทศไทย หลังจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการLockdown มาได้ประมาณ1เดือน ภาพที่เห็นในช่วงแรก คือ ความคึกคักของห้างสรรพสินค้า รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เรียกว่า "Pent Up Diand" หรือ พูดเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ กำลังซื้อที่ "อั้น"มานานกว่า3เดือน โดยภาพที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นภาพเดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตามภาพที่เราเริ่มเห็นคือ ณ.ปัจจุบัน หากห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าใด ที่ไม่มีการจัดโปรโมชัน ห้างหรือร้านค้านั้นจะเงียบเหงาเป็นอย่างมาก จนเกือบใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะLockDown ซึ่งเกิดจากเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่เริ่มไม่แน่ใจกับรายได้ของตัวเองในอนาคต จึงตัดสินใจที่จะชะลอการใช้จ่ายลง

แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้เมื่อไหร่?

คำถามก็คือ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้เมื่อไหร่?

การจะตอบคำถามนี้ได้ ก็ต้องมาดูที่แหล่งที่มาของรายได้ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติ

  • ข้อมูลในปี2018 ประเทศไทยพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างชาติ คิดเป็น21.6%ของGDP

ซึ่งตีความได้ง่ายๆว่า เศรษฐกิจประเทศไทยกว่า1ใน5 พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติ หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เศรษฐกิจไทย ก็น่าจะใช้คำว่า "เหนื่อย"

อย่างน้อยอีก2ปีเต็ม กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา

แล้วนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาเมื่อไหร่...

คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น การท่าอากาศยานแห่งชาติ(ทอท) โดย เมื่อวันที่17มิถุนายน2563 ทอท.ได้จัดทำรายงาน"ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ จากผลกระทบของโควิด-19" สามารถสรุปได้ว่า

  • กรณีดีที่สุด(หากค้นพบและจำหน่ายวัคซีน ได้ภายในเดือน กค 2564) -> จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเป็นปกติได้ในเดือน ตุลาคม2565
  • กรณีปกติ(มีการทำข้อตกลงTravel Bubble)-> จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเป็นปกติได้ในสิ้นปี 2566

หากดูจากข้อมูลการคาดการณ์ดังกล่าว ก็น่าจะพอตอบได้ว่า ประเทศไทยคงต้องพึ่งพาภาคเม็ดเงินจากการบริโภคและเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ไปอีกอย่างน้อย2ปีเต็ม!

เมื่อReal Street กับ Wall Street เดินคนละทาง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจจริง(Real Sector)ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงข้อมูลที่แย่มากๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • อัตราการว่างงานของสหรัฐที่ยังสูงกว่า30ล้านคน
  • ตัวเลขนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่เป็น"0"ทั่วโลก
  • การปรับลดคาดการณ์GDPลงทั่วโลก และต่อเนื่อง
  • อัตราผู้ติดเชื้อCOVID-19ยังเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ

ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ แต่เหตุผลเดียวที่ทำให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกยังคงฟื้นตัวได้ ในลักษณะที่แทบจะ "ไม่รู้ร้อนรู้หนาว" ก็คือ เม็ดเงินประมาณมหาศาลที่ธนาคารทั่วโลกอัดฉีดเข้ามาเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ในระยะยาวแล้วราคาหุ้น
ก็จะต้องตอบสนองต่อปัจจัยพื้นฐานในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้วราคาหุ้น ก็จะต้องตอบสนองต่อปัจจัยพื้นฐานในท้ายที่สุด...

และสิ่งสำคัญนั้นก็คือ คำว่าระยะยาว อาจจะไม่ยาวนานอย่างที่คาด เพราะในช่วงปลายเดือนนี้(กรกฎาคม) บริษัทต่างๆจะเริ่มต้องประกาศงบการเงินในไตรมาสที่สอง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว กำไรของบริษัทต่างๆจะลดลงไปหนักแค่ไหน แน่นอนว่า หากงบที่ประกาศออกมาแย่กว่าที่คาด โอกาสที่ดัชนีจะปรับฐานอย่างรุนแรงอีกครั้งก็มีสูง

นักเก็งกำไร แนะนำSAP
นักลงทุนระยะยาว ตุนกระสุน เพื่อรอปลายปี

ดังนั้นในแง่กลยุทธ์การลงทุน หากเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น Allfinnแนะนำให้ท่านทำการShort Against Port(SAP)หรือการขายหุ้นออกก่อน เพื่อเตรียมรับซื้อคืนอีกครั้ง หลังจากการประกาศงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน แต่หากเป็นนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้ขายเพื่อถือเงินสดให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่า จุดเลวร้ายที่สุดมิได้ผ่านไปแล้ว...แต่กำลังจะเริ่มต้นในช่วงปลายปีนี้

หมวดหมู่ : Monthly Report

บทความแนะนำ

แอดไลน์มาคุยกับเราได้นะ^^

 
แอดไลน์มาคุยกับเราได้ที่

Line : @allfinn