Blog
language
ไทย
Eng
Home
About
Blog
Contact

language Language:

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนธันวาคม2562 : “The Winter”

06 ธันวาคม 2562, 19.51น   456 views

Key Takeaways :

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ประกาศออกมา ยังคงแสดงความอ่อนแออย่างต่อเนื่อง โดยGDPไตรมาส3 เติบโดเพียง 2.4% ต่ำกว่าคาดที่ 2.6% ขณะที่หุ้นไทยก็ยังคงมีความแพง จึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน
Set Indexปรับตัวลดลง -0.68%ในเดือนพฤศจิกายน

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายน2562 Set Indexปรับตัวลดลงจากระดับ 1,601.49 จุด มาปิดที่ 1,590.59 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลง -0.68% โดยได้รับแรงบวกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ได้รับปัจจัยกดดันจากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน และความกังวลเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงไม่มีความคืบหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +13.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +10.5% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +5.0% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -8.6% กลุ่มเกษตรและอาหาร -5.0% และกลุ่มธุรกิจบันเทิง -3.3% โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นไทยสุทธิ 7,683 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,585 ล้านบาท

แบงค์ชาติลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

แบงค์ชาติฯลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50% สู่ระดับ 1.25% ต่อปีโดยให้มีผลทันที เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินเฟ้อยังเคลื่อนไหวต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

โดย กนง. ระบุว่า การส่งออกสินค้าในไทยหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยมีความกังวลในเรื่องของสภาวะการกีดกันทางการค้าจากผลของสงครามการค้า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน และแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

กำไรบริษัทจดทะเบียนแย่กว่าคาด

กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง15% เทียบกับปีที่แล้ว

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมา มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ในปีที่แล้ว หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018

โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง

GDPไทยออกมาต่ำกว่าคาด

GDPไตรมาส3 เติบโดเพียง 2.4% ต่ำกว่าคาดที่ 2.6%

ทางสภาพัฒน์ฯได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%)

ทำให้สภาพัฒน์มีการปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ความเห็น

Geopolitics Risk ลดความร้อนแรงลงชั่วคราว
แค่พักรบ แต่ยังไม่สิ้นสุดสงคราม

หากย้อนดูความเสี่ยงปัจจัยภายนอกประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในMonthly Reportทุกฉบับ ทางAllfinnให้น้ำหนักกับประเด็นความเสียงการเมืองระหว่างประเทศ(Geopolitics Risk)มาตลอด

หากไม่นับประเทศการลดอัตราดอกเบี้ยของFED จะพบว่าตลาดให้น้ำหนักกับสองเรื่องหลักคือ ประเด็นเรื่องBrexit และ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ(Geopolitics Risk)

สำหรับประเด็น BREXIT สหภาพยุโรปมีมติยินยอมให้สหราชอาณาจักร (UK) ขยายเส้นตายออกไปจากเดิมวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไปเป็น 31 มกราคม 2563 และหากทาง UK พร้อมก็สามารถถอนตัวได้ก่อนกำหนด ทำให้โอกาสที่จะเกิดการถอนตัวอย่างไม่มีข้อตกลง (Hard Brexit) ลดลง

ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกภายในกรอบเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ Allfinn เรามองว่าประเด็นสงครามการค้าของมหาอำนาจทั้งสองคง ยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ ซึ่งAllfinn จะยังคงให้น้ำหนักกับประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

SurpriseจากFEDหมดลง ได้เวลากลับสู่โลกความจริง

ความหวังตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ ถูกฝากความหวังไว้กับการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) เพื่อพยุงเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลงจากพิษสงครามการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดสงครามอย่างต่อเนื่องกับประเทศคู่ค้าต่างๆทั่วโลก ซึ่งผลกระทบของสงครามการค้าได้ส่งผลให้องค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ สู่ระดับ 1.2% ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยก่อนหน้านี้ WTO คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่า การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.6%

โดยธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพระเอกขี่ม้าขาวพยุงเศรษฐกิจโลก โดยตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง3ครั้ง อย่างไรก็ตามกระสุนในการลดอัตราดอกเบี้ยย่อมมีจุดสิ้นสุด โดยล่าสุดนายJerome Powell ประธาน FED ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว นั่นย่อมสะท้อนว่า จากนี้ไปตลาดจะต้องฝากความหวังไว้กับ "ตัวเลขเศรษฐกิจ" แล้ว

เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ คนไทยหนี้ท่วม

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทย กลับมาอยู่ที่ประเด็นความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนได้จากความกังวลของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ โดยKBANK ตั้งเป้าการเติบโตในปี 2563 แบ่งเป็น

  • สินเชื่อรวมเติบโตที่ 4-6% จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 5-7%
  • สัดส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม(NPL Ratio Gross)ที่ 3.6-4.0% จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 3.3-3.7%

โดยภายหลังการประกาศตัวเลขผลประกอบการดังกล่างของKBANK ส่งผลให้วันที่24ตุลาคม2562 ราคาหุ้นKBANKปรับตัวลดลงแรงถึง -7.38% ภายในวันเดียว

หุ้นไทยแพงจนซื้อไม่ลง

นอกจากนี้หลังจากการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ถูกประกาศออกมาต่ำกว่าคาดการณ์หลายหลายบริษัท ส่งผลให้นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เริ่มทะยอยปรับลดตัวเลขคาดการณ์กำไรของปีนี้และปีหน้าของบริษัทจดทะเบียนฯลงมาอยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท คิดเป็นการติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า นอกจากนี้

ส่งผลให้ที่ระดับดัชนีSET Index ประมาณ1560จุด ตลาดหุ้นไทยยังคงมีค่าP/E สูงถึงประมาณ16.5เท่า ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ15เท่า ถึงประมาณ+1SD. ดังนั้นที่ระดับดัชนีดังกล่าว ถึงแม้ดูผ่านๆจะรู้สึกว่าตลาดลงมาค่อนข้างมาก แต่หากวิเคราะห์ถึงความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของบริษัทจดทะเบียน ก็ยังต้องบอกว่าดัชนี1560 หุ้นไทยยัง "แพง"

สำหรับลูกค้าของเรา ที่แนะนำให้ขายเพื่อลดความเสี่ยงไปก่อนหน้า
แนะนำให้ทยอยซื้อกลับเพื่อปิดความเสี่ยง

สำหรับลูกค้าของเรา ที่แนะนำให้ขายเพื่อลดความเสี่ยงไปก่อนหน้าที่ระดับ1700จุด แนะนำให้ทยอยซื้อกลับเพื่อปิดความเสี่ยง โดยกลยุทธ์การซื้อกลับ ทางFinancial Planner จะเป็นผู้แนะนำลูกค้าเป็นรายบุคคล

ส่วนลูกค้าที่ต้องการซื้อเพิ่ม ยังคงแนะนำให้"รอ"

ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อเพิ่ม ทางAllfinn ยังคงแนะนำให้"รอ" เพื่อให้ดัชนีซึมซับข่าวร้ายไปก่อน โดยสำหรับกลุ่มลูกค้าPrivate Wealth ทางFinancial Planner จะแจ้งกลยุทธ์การจัดพอร์ตทางเลือก เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นรายบุคคล

หมวดหมู่ : Monthly Report

บทความแนะนำ

04 กุมภาพันธ์ 2563
2,672

Feel free to chat with us!

 
Add us as a friend

Line : @allfinn