กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนสิงหาคม2563 : Vaccine Hope?
Key Takeaways :
จำนวนผู้ติดเชื้อCovidยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 22ล้านคน ขณะที่การคาดการณ์วัคซีนกว่าที่คนไทยจะได้ฉีดกันถ้วนหน้าก็ไม่น่าเร็วกว่าช่วงปลายปี2564“SET Indexปรับตัวลดลง-0.8% ในเดือนกรกฎาคม”
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนกรกฎาคม2563 ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงจาก1,339.03จุด ลงมาปิดที่1,328.53จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลง -0.8% โดยมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นได้แก่ ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนCOVID-19 ขณะที่ปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้น คือ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +68.3% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +3.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +3.2% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -11.3% กลุ่มธนาคาร -7.8% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.6% โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,178 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 4,690 ล้านบาท
"วัคซีน" ความหวังแห่งมนุษยชาติ
ป ัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในการทดลองเฟส3 ทั้งหมด 8 ตัว
ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 รัสเซียได้ประกาศใช้วัคซีน Sputnik-V ซึ่งเป็นวัคซีนต้านCOVID-19อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ออกมาเตือนถึงความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากพึ่งถูกนำมาทดสอบในมนุษย์ได้เพียง2เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตามข่าวดังกล่าวก็ผลักดันหุ้นทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เป็นช่วงสั้นๆ
โดยการทดสอบวัคซีนจะแบ่งออกเป็น 5 เฟส ได้แก่
- เฟส Preclinical หมายถึงการทดลอง ที่ยังไม่ผ่านการทดลองในมนุษย์
- เฟส1 หมายถึง การทดลองความปลอดภัยในมนุษย์(กลุ่มผู้ทดลองจำนวนน้อย)
- เฟส2 หมายถึง การทดลองความปลอดภัยในมนุษย์(กลุ่มผู้ทดลองจำนวนมาก)
- เฟส3 หมายถึง การทดลองประสิทธิภาพการต้านโรคของวัคซีนในมนุษย์(กลุ่มผู้ทดลองจำนวนมาก)
- Approval คือ การอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ
หากพิจารณาถึงวัคซีนที่ "น่าจะใช้ได้ผลและปลอดภัยจริง"(Phase3) ณ.วันที่17 สิงหาคม2563 จะพบว่ามีวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการทดลอง ที่น่าสนใจและน่าติดตามทั้งหมด 8 ตัว ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีวัคซีนที่กำลังถูกพัฒนาอยู่กว่า 135 ชนิด
โดยในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะไม่มีวัคซีนใดถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ จนกว่าจะถึงช่วงกลางปี 2564
ผู้ติดเชื้อCOVID ยังเพิ่มต่อเนื่อง
จำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19 ทั่วโลกทะลุ 22ล้านคน ติดเชื้อเพิ่มวันเดียวเกือบ 2 แสนราย
จำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด ณ.วันที่18สิงหาคม2563 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก 22,062,533 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 777,668 ราย ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ.วันที่17สิงหาคม2563 จะยังคงสูงถึง 198,459 ราย
จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเขื้อรายใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าสถานการณ์ทั่วโลกยังคงไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย สำหรับในประเทศไทยเองที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 85 วัน ก็ยังคงประมาทไม่ได้ เพราะประเทศในกลุ่มอาเซียนข้างเคียงก็ยังพบการระบาดใหม่ต่อวันที่สูงมาก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ 3,314 ราย และ ประเทศอินโดนีเซีย 1,821 ราย
ซึ่งก็ได้แต่ทำใจว่า...หากยังไม่ได้วัคซีน คงอีกนานกว่าทั่วโลกจะกลับสู่สภาพปกติ
ตัวเลขเศรษฐกิจยังคงดิ่งเหว
GDPไทยไตรมาส2 ติดลบสาหัส -12.2%!
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ที่พึ่งประกาศโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2020 ก็คงสรุปได้สั้นๆว่า "เละตุ้มเป๊ะ" ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- GDP ไตรมาส 2 ติดลบหนักถึง 12.2% (ช่วงต้มยำกุ้ง -12.5%)
- อัตราการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนหดตัวถึง -24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น 7 แสนคน ทั้งในและนอกภาคการเกษตร จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- คาดการณ์ GDP ทั้งปี ติดลบ 7.5% (จากเดิม คาดการณ์ติดลบ5-6%)
- มีแรงงานเสี่ยงตกงาน-ถูกเลิกจ้าง เพิ่มอีกกว่า 1.7 ล้านคน
ซึ่งข้อมูลที่ออกมาก็ต้องเรียกว่า ไม่ได้ร้ายแรงเกินกว่าความคาดหวังของเราแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทิศทางการคาดการณ์เศรษฐกิจของ สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์ในแนวโน้มที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง
ความเห็น
Main Street VS Wall Street
เรื่องแรกที่ต้องพูดถึงคือ ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจจริง(Main Street) กับตลาดหุ้น(Wall Street) ซึ่งเราได้พูดถึงเรื่องนี้มาในบทวิเคราะห์หลายๆเดือน ครั้งนี้ เราจะหยิบมาสรุปให้ฟังอีกรอบ
- เศรษฐกิจจริง(Main Street) คนจะกล้าจับจ่ายใช้สอยก็ต่อเมื่อ มั่นใจว่าในอนาคตจะได้เงินชัวร์ๆ ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นLagging Indicator
- ตลาดหุ้น(Wall Street) จุดซื้อที่ดีที่สุด ก็คือ จุดที่คิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่แย่กว่านี้เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะหากรอจนเกิดเรื่องดีขึ้นแล้ว ราคาที่ซื้อได้ย่อมเป็นราคาที่สูง(ซื้อก่อนได้เปรียบ) ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นLeading Indicator
ดังนั้นคำถามสำคัญก็คือ...แล้วเราผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วหรือยัง
COVID-19ทำคนตายเพราะโรค 2แสนคน
แต่ทำคนเกือบอดตายจากการไม่มีรายได้ กว่า700ล้านคน
ข้อแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของการLockdown
หากพิจารณาตามความเป็นจริง ความเสียหายหลักจากCOVID-19 ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องชีวิตของประชาชน แต่ความเสียหายหลักที่แท้จริง เกิดจากนโยบายLockdown ของภาครัฐ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ "COVID-19ทำคนตายเพราะโรค 2แสนคน แต่ทำคนเกือบอดตายจากการไม่มีรายได้ กว่า700ล้านคน"(COVID-19 ทำคนตกงานกว่า10%ทั่วโลก)
ในความเห็นของเรา เราเชื่อว่าการLockdownในประเทศใหญ่ๆทั่วโลก จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะรัฐบาลทั่วโลกต่างเรียนรู้บทเรียนแล้วว่า การปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจเสียหายรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้มาก จนเงินอุดหนุนเท่าไหร่ ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาได้
วัคซีนอาจมาไม่เร็วอย่างที่คิด
คำถามที่สองก็คือ แล้ววัคซีนจะมาเร็วแค่ไหน
จากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้คนเริ่มมีความหวังว่าการค้นพบวัคซีน จะมาเร็วกว่าที่คาด ซึ่งตลาดหุ้นเองก็ได้ตอบรับความคาดหวังดังกล่าวไปบางส่วนแล้ว
แต่ถ้ามองในแง่กระบวนการมาตรฐานในการคิดค้นวัคซีน จะพบว่า การค้นพบวัคซีนไม่สามารถเร่งเวลาได้ เพราะ สิ่งสำคัญกว่าประสิทธิภาพในการสร้างภูมิค้มกัน ก็คือ ความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นตัวตอบคำถาม
สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือ เมื่อค้นพบวัคซีนแล้ว ในแง่ของกระบวนการผลิตวัคซีนออกมาปริมาณมาก รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หลอดและเข็มฉีดยา ปริมาณมหาศาลที่จะต้องใช้(Bloomberg เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้แล้ว) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย
รวมๆกันทั้งหมด กว่าเราจะได้เริ่มฉีดวัคซีนกันอย่างจริงจัง ก็น่าจะไม่เร็วไปกว่าช่วงปลายปี2564
เมื่อผู้คนอดอยาก
การประท้วงก็จะเกิดขึ้นเสมอ
อีกความเสี่ยงที่เริ่มจะเห็นภาพชัดขึ้นทั่วโลก ก็คือเรื่องของการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ณ.ปัจจุบันการประท้วงขับไล่ผู้นำประเทศ ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก แต่เกิดขึ้นประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น สหรัฐ , อังกฤษ , ฮ่องกง , เกาหลีใต้ , ชิลี , โคลัมเบีย , อิหร่าน , ซาอุดิอาระเบีย , โบลิเวีย , เลบานอน , ฟิลิปปินส์ , อิสราเอล , บราซิล
ซึ่งภาพการประท้วงที่เกิดขึ้น หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนอดอยาก การประท้วงก็จะเกิดขึ้นเสมอ
...ก็คงอยากฝากคำกล่าวของOdinที่พูดกับThor ถึงผู้นำทั่วโลกว่า "แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่คือประชาชน"
สภาพคล่องก็เหมือนยาพาราฯ
ถ้าไม่รักษาสาเหตุของโรค สุดท้ายก็ได้แค่ยื้อเวลา
ความเสี่ยงเรื่องสุดท้ายที่จะต้องกลับมาพูดถึง ก็คือ เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลก ณ.ปัจจุบันก็ต้องเรียกว่า พบกับความเสี่ยงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- จำนวนคนตกงานยังคงสูงอยู่ คิดเป็นเกือบ10%ทั่วโลก
- ความขัดแย้งในเรื่องสงครามการค้า ระหว่างจีนและสหรัฐ ที่พร้อมจะปะทุอย่างรุนแรงได้ทุกเมื่อ
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศยังคงสูงอยู่ รวมถึงSecond Waveยังคงพบได้ในหลายประเทศ
สิ่งเดียวที่ยังคงเยียวยาให้เศรษฐกิจไม่ล้มพับไปตอนนี้ ก็คือการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล ผ่านทั้งกลไกการคลัง และธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก แต่อย่าลืมว่า "สภาพคล่องก็เหมือนยาพาราฯ ถ้าไม่รักษาสาเหตุของโรค สุดท้ายก็ได้แค่ยื้อเวลา"
มาตราการพักหนี้ ที่ผ่านมาอาจเป็นระเบิดเวลาที่เตรียมระเบิด
ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกจะไม่ต่อมาตราพักหนี้ที่จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าว หากภาคครัวเรือนยังคงไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ จะกลายเป็นNPL ก้อนใหญ่ที่ธนาคารจะต้องแบกรับ
ซึ่งท้ายสุด มาตราการพักหนี้ ที่ผ่านมาอาจเป็นระเบิดเวลาที่เตรียมระเบิด
ถ้าSETหลุด1300 อาจเตรียมดิ่งนรกอีกระลอก
ดังนั้นในแง่กลยุทธ์การลงทุน อย่างที่Allfinnได้เน้นย้ำมาตลอดว่า "ขึ้นให้ขาย" เพราะหุ้นขึ้นในรอบที่ผ่านมา ด้วยความคาดหวังจากแค่สองเรื่อง คือ วัคซีน กับ เม็ดเงินมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้าระบบ แต่ความเสี่ยงที่แท้จริงในอนาคต ยังไม่ถูกนำมาPricingเข้าไปในราคาตลาด ณ.ปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งในมุมมองทางเทคนิค หากรอบนี้SETหลุด 1300 จุด อาจเตรียมดิ่งนรกอีกระลอก...