ไทย
Eng
หน้าแรก
รู้จักเรา
บทความ
ติดต่อเรา

language Language:

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนเมษายน2562: “Take a break”

04 เมษายน 2562, 18.29น   416 views

Key Takeaways :

การเจรจาสงครามการค้าของสหรัฐและจีนอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ส่วนการเมืองไทยหากจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ จะส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจ
Set Index ปรับตัวลดลง -0.90%ในเดือนมีนาคม

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนมีนาคม2562 Set Indexปรับตัวลดลงจากระดับ 1,653.48 จุด มาปิดที่1,638.65 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลง -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์2562 โดยได้รับแรงกดดันหลักจากปัจจัยการเลือกตั้งของไทย ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศยังคงไม่ได้ข้อสรุป ทั้งประเด็นเรื่องสงครามการค้า และข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(Brexit)

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.2% กลุ่มการแพทย์ +3.2% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +2.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -7.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.1% โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 16,397 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,719 ล้านบาท

เลือกตั้งจบ แต่เกมส์ยังไม่จบ

ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี? รู้ผลในช่วงเดือนมิถุนายน

สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประกาศ ณ.วันที่ 28 มีนาคม 2562 พรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่

พรรคพลังประชารัฐ 8,433,137เสียง , พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง , พรรคอนาคตใหม่ 6,265,950 เสียง ,พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 เสียง ,พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 เสียง

โดยเราประเมิน"สูตร"การจัดตั้งรัฐบาลได้เป็น3แนวทาง ได้แก่

  • พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
  • พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยพรรคเพื่อไทยได้มีการประกาศความร่วมมือกับพรรคพันธมิตรอีก6พรรค ในการตั้งจัดรัฐบาล
  • ไม่มีพรรคไหนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีความชัดเจนใดๆอย่างน้อยอีกสองเดือน โดยมีTimelineต้องติดตามดังนี้

  • กกต จะมีการรับรองการเลือกตั้งและรับรองสถานะความเป็น สส .อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
  • จากนั้นในอีก3วัน จะมีการแต่งตั้ง สว.250คน อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2562
  • อีกไม่เกิน15วัน เลือกประธานสภาฯ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562
  • ประชุมสภาฯครั้งแรก เพื่อเลือกนายกฯ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน2562

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ได้ข้อสรุป

การเจรจาอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คาดบรรลุข้อตกลงในสิ้นเดือนเมษายน

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่สหรัฐเลื่อนวันประกาศใช้อัตราภาษีที่เก็บเพิ่มจากสินค้าจากขึ้นจาก 10% เป็น 25% ออกไป และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา โดยมีโอกาสสูงที่ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

Brexitยังไม่สามารถเจรจากันได้

Brexit Dealครั้งที่สามยังไม่ได้ข้อสรุป

วันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษมีมติโหวตไม่ผ่านข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(Brexit) เป็นครั้งที่ 3 ทำให้นางเทเรเซ่า เมย์ต้องกลับไปคุยกับ EU ในวันที่ 12 เมษายนนี้เพื่อกำหนดข้อตกลงใหม่ แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่อังกฤษจะต้องออกจาก EUโดยไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งประเทศอังกฤษและ EU ที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด

ความเห็น

ปัจจัยต่างประเทศยังคงไม่น่ากังวล

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หรือ ประเด็นBrexit ท้ายสุดแล้วAllfinnมองว่าจะได้สรุปที่ชัดเจนในเร็วๆนี้ เพราะ โดยประเด็นสงครามการค้าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2019 (GDP) ถูกปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.3% เหลือ 2.1% ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อคะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเลือกตั้งในแต่ละรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงปี2020

GDPทั่วโลกถูกปรับลดคาดการณ์ต่อเนื่อง แต่ถูกชดเชยด้วยมุมมองDovishของFED

ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ยังคงถูกปรับลดมุมมองการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2019 (GDP) ถูกปรับลดคาดการณ์ลงจาก2.3%เหลือ2.1% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์GDPของไทยถูกปรับลดจาก 4.0% สู่ระดับ 3.8%

อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% – 2.50% พร้อมมีมุมมองไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง(Risk On)ทั่วโลก

การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ เสถียรภาพของรัฐบาลชุดหน้าคือจุดตัดสิน

ขณะที่ปัจจัยหลักยังคงอยู่ที่ทิศทางการเมือง โดยผลการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดสถานการณ์"สุญญากาศ" ทางการเมืองขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหากวิเคราะห์จาก"สูตร"การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปได้ จะพบว่า

  • หากเป็นกรณีที่พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยใช้สูตร สส.ของตน + 250สว. เพื่อโหวตให้ได้ตำแหน่งนายก จากนั้นจึงจัดตั้ง ครม. หากไม่สามารถรวบรวมเสียง สส.ให้ได้เกิน250เสียง จะทำให้ ครม ที่จัดตั้งขึ้น ไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี(ต้องใช้เสียง สส อย่างน้อย100เสียงเพื่อเปิดอภิปรายฯ และใช้เสียงลงมติไม่ไว้วางใจอย่างน้อย251เสียง)
  • กรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะเกิดความไม่สอดประสานกันในการออกกฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้เสียง สว.ในการอนุมัติร่างกฎหมาย ทำให้เกิดความ"ล่าช้า"ในการออกกฎหมายขึ้นได้
หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ จะส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

ในทางตรงกันข้าม หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ จะส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปี น่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยแผนปฏิบัติการที่ได้ระบุไว้ ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ยุค 4.0 เป็นต้น

ภาพระยะกลางยังมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว แต่แนะนำให้รอดูความชัดเจนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

สำหรับคำแนะนำประจำเดือนเมษายน Allfinn มองว่าในภาพระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากปัจจัยเรื่องFund Flow ที่จะไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาวจากรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตามมุมมองระยะสั้น เรามองว่าSet Indexน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ เพื่อรอคอยปัจจัยที่จะเข้ามา โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ , Brexit และความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล

หมวดหมู่ : Monthly Report

บทความแนะนำ

แอดไลน์มาคุยกับเราได้นะ^^

 
แอดไลน์มาคุยกับเราได้ที่

Line : @allfinn